บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ที่ให้ความสนใจ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม

9.13.2555

ยูคาลิปตัส ประโยชน์หรือโทษมหันต์ต่อสุขภาพดิน


ยูคาลิปตัส ประโยชน์หรือโทษมหันต์ต่อสุขภาพดิน

สุทธิพงษ์  พงษ์วร


          หลังจากที่ได้ดูรายการทีวีที่พยายามนำเสนอและสนับสนุนเรื่องการปลูกยูคาลิปตัส พันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และเพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือปลูกขายเพื่อนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ทำนั่งร้านสำหรับการก่อสร้างอาคาร และการทำไบโอดีเซล แต่เป้าหมายหลักๆ ก็คือความคาดหวังในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ปลูกนั่นเอง

          พอได้ดูได้ฟังแล้วก็อดใจที่จะไม่ให้มีคำถามเกิดขึ้นในใจไม่ได้จริงๆ สำหรับนโยบายการกลับมาส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสอีกครั้ง เพราะในอดีตรัฐบาลสมัยก่อนๆ ก็ได้เคยส่งเสริมการปลูกมาแล้ว และผลที่เห็นก็คือคุณภาพดินแย่ลง ซึ่งผลดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบันในหลายพื้นที่ และเมื่อมีการนำโครงการส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เราในฐานะประชาชนต้องหันมาคิดแบบวิทยาศาสตร์กันสักหน่อย ถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ก่อนที่จะลงมือทำอะไรลงไป

         และวิธีที่ดีที่สุดและทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ ต้องพยายามหาข้อมูลงานวิจัยมาสนับสนุนหรือคัดค้านแนวคิดของตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจปลูก และยังเป็นข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าการปลูกยูคาลิปตัส พืชนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียนั้นมีประโยชน์หรือเป็นโทษกันแน่

         เบื้องต้น เราควรมาทำความรู้จักต้นยูคาลิปตัสกันก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร ต้นยูคาลิปตัสจะมีมากมายหลายสายพันธุ์ และมีมากกว่า 700 ชนิดเลยทีเดียว ส่วนใหญ่พบเป็นพืชประจำถิ่นของออสเตรเลีย มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่พบได้ในบริเวณใกล้เคียงกับออสเตรเลีย เช่น พบในนิวกินี อินโดนีเซียและเกาะทางเหนือของหมู่เกาะฟิลิปปินส์อีกหนึ่งเกาะ ต่อมาจึงมีการนำมาปลูกในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสหรัฐอเมริกา แอฟริกา อิสราเอล อเมริกาใต้ อินเดีย และจีน เป็นต้น เพื่อจุดประสงค์หลักอย่างเดียวก็คือเพื่อประโยชน์ทางการค้า เนื่องจากเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้เร็ว และสามารถดำรงชีวิตในที่แห้งแล้งได้ดี        

         ปัจจุบันนี้ แนวคิดในเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญทางด้านป่าไม้ กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤกษศาสตร์  บ้างก็กล่าวว่ายูคาลิปตัสเป็นไม้โตเร็วที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็นำเสนอข้อมูลงานวิจัยอีกด้านเพื่อนำมาเป็นข้อโต้แย้งในหลายประเด็น อาทิ เช่น ใบของต้นยูคาลิปตัสจะมีน้ำมันที่เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดินจะทำให้คุณภาพดินเสียไป และต้นยูคาลิปตัสเองยังเป็นพืชที่ใช้น้ำในดินปริมาณมากสำหรับการเจริญเติบโต ดังนั้นในเรื่องของการส่งเสริมการปลูก จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะจากการนำยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อกว่า 30 ปีจะเห็นได้ว่ายูคาลิปตัสจะทำให้คุณภาพดินและระบบนิเวศเสียไปมากกว่าที่จะทำให้ดีขึ้น

         หลังจากที่มีการทดลองนำเอายูคาลิปตัสไปปลูกในทะเลทรายในอิสราเอล ก็พบว่ายูคาลิปตัสเติบโตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากนั้นก็เกิดคำถามว่า….”ทำไม?” จึงมีการศึกษาในเรื่องนี้เพื่อดูการใช้น้ำในการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ พบว่าระบบรากของยูคาลิปตัสสามารถที่จะชอนไชไปดึงน้ำที่ถูกเก็บไว้ใต้ดินหรือตามซอกหินมาใช้ได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น การศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการให้ข้อมูลยืนยันว่า ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่มีระบบรากและระบบการดูดซึมน้ำที่ดี ซึ่งจากข้อได้เปรียบในเรื่องที่มันเป็นพืชที่มีความสามารถในการดำรงชีวิตในเขตแห้งแล้งนี่เอง จึงเป็นข้อควรระวังในการนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ที่มีพืชประจำถิ่นอยู่ เพราะจะทำให้พืชประจำถิ่นไม่สามารถแข่งขันได้และตายไปในที่สุด

          ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของการสลายตัวของใบยูคาลิปตัสและการเปลี่ยนแปลงของธาตุอาหารพืช ได้แก่ โพแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน พบว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างยูคาลิปตัส ทำให้สมดุลของธาตุอาหารพืชในดินเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหน้าดินก็มีแนวโน้มลดลง แล้วยังมีผลต่อจำนวนและชนิดของแมลงที่อาศัยกับพืชน้ำโดยรอบสวนป่ายูคาลิปตัสด้วยเมื่อศึกษาเทียบกับป่าธรรมชาติ  ส่งผลให้คุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลงไปในที่สุด

        นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับชนิดของพืชในเรื่องของระบบราก ใบ การย่อยสลายของใบ ธาตุอาหารของพืชที่ได้จากการสลายตัว กับความหนาแน่นของไส้เดือนดินในหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมามีผลต่อความหนาแน่นของไส้เดือนดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเปรียบเทียบแปลงเพาะปลูกต้นยูคาลิปตัสกับต้นอัลบีเซีย (Albizia) หลังจากปลูกเป็นระยะเวลา 9 ปี พบว่าต้นอัลบีเซียซึ่งเป็นไม้โตเร็วเช่นกันมีอัตราการล่วงหล่นของใบมากกว่าต้นยูคาลิปตัสและมีอัตราการสลายตัวของใบเร็วกว่าต้นยูคาลิปตัสทำให้เหลือใบของมันกองอยู่บนพื้นน้อยกว่าแปลงเพาะปลูกยูคาลิปตัส เมื่อสำรวจดูปริมาณไส้เดือนดินในแปลงเพาะปลูกต้นไม้ทั้งสองชนิดก็พบว่าปริมาณไส้เดือนดินในแปลงที่ปลูกต้นอัลบีเซียมีมากกว่าปริมาณไส้เดือนดินในแปลงเพาะปลูกยูคาลิปตัส ถึง 5 เท่า และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับแปลงที่ปลูกยูคาลิปตัสร้อยละ 75 ผสมกับต้นอัลบีเซียร้อยละ 25 พบว่ามีปริมาณไส้เดือนดินมากกว่าแปลงที่ปลูกยูคาลิปตัสอย่างเดียวถึง 3 เท่า การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าใบยูคาลิปตัสมีคุณภาพต่ำถ้ามองในเรื่องของการนำกลับมาเป็นปุ๋ยบำรุงดินและย่อยสลายได้ช้า ทำให้คุณภาพของดินค่อยๆ เสื่อมลง ปริมาณไส้เดือนดินจึงน้อยลงตามลำดับ เพราะซากพืชซากสัตว์ในดินซึ่งเป็นแหล่งอาหารของไส้เดือนดินลดลงนั่นเอง และไส้เดือนดินเองก็มีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพดินด้วย

        อีกกรณีที่อยากจะให้คิดและคำนึงถึง ก็คือ เรื่องสมดุลของการปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเคยปฏิบัติกันมา ซึ่งในกรณีหลังพบมีผลทำให้คุณภาพดินแย่ลงและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศบริเวณนั้นก็มีความหลากหลายลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

         สรุป อีกครั้งสำหรับเป็นแนวทางในการตัดสินใจที่จะปลูกยูคาลิปตัส มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ คุณภาพดิน ถ้ามั่นใจว่า ดินบริเวณนั้นมีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ ก็สามารถปลูกยูคาลิปตัสได้ เพราะยูคาลิปตัสเป็นพืชที่ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่แย่ๆ ได้ดี แต่ถ้ายังมีทางเลือกที่จะปลูกพืชชนิดอื่น ก็ขอให้คิดให้รอบคอบว่ามันคุ้มกันไหมกับสิ่งที่จะได้มา และสิ่งที่จะเสียไป ซึ่งนั่นก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินที่ใช้ในการปลูกพืชนั่นเอง



เอกสารอ้างอิง

Briones, M. J. I. & Ineson, P. (1996) Decomposition of Eucalyptus leaves in litter mixtures. Soil  Biology   and  Biochemistry, 28(10), 1381-1388.
Callisto, M., Barbosa, F. A. R. & Moreno, P. (2002) The influence of Eucalyptus plantations on the macrofauna associated with Salvinia auriculata in southeast Brazil. Brazilian Journal of Biology, 62 (1), 63-68.
Cohen, Y., Adar, E., Dody, A. & Schiller, G. (1997) Underground water use by Eucalyptus trees in an arid climate. Trees,11, 356-362.
Wipatayotin, A. (2008) Two ministers reject concerns over Eucalyptus. Bangkok Post. 12 February, p.4, Bangkok.
Zoe, X. (1993) Species effects on earthworm desity in tropical tree plantations in Hawaii. Biology and Fertility of Soils, 15,35-38.


http://www.i-creativeweb.com/demo/biology/index.php?option=com_content&view=article&id=209:-8-51&catid=45:bio-article-&Itemid=112

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น